รู้เพื่อละ

เรามาปฏิบัติ ต้องเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต นี่เป็นหลัก ของมัน ความซื่อสัตย์เรารู้จัก สุจริตเราก็รู้จัก เมื่อไรถูกกิเลส มันครอบงำ เราก็รู้จัก บางทีมันคิดรังเกียจคนโน้น คิดรังเกียจ คนนี้ หรือคิดไม่ชอบใจกับอารมณ์เหล่านั้น เราอย่าไปหันเห กับมัน มันเป็นเรื่องธรรมดาของมันอย่างนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นมา แล้ว เราก็ต้องรู้จักว่า อันนี้มันไม่ชอบแล้ว ถ้ารู้จักผิดแล้ว...มัน คิดอย่างนั้น ก็อย่าตามมันไปซิ อย่าปฏิบัติตามมันซิ มันจะสั่งงานเราเท่าไร เราก็ไม่ทำตามมัน เพราะรู้ว่ามันผิดแล้ว นี่เรียกว่าคนซื่อสัตย์ อย่างคนมีศีล ๕ ประการ ศีล ๘ ประการ ตั้งมั่น อยู่แล้ว เมื่อไปถูกอารมณ์ มันดึงดูดไปที่ไหน เราก็ไม่ไปกับมัน แต่ให้รู้จัก

การปฏิบัติธรรมะ ไม่ใช่ว่าจะไปเรียนให้รู้อย่างเดียว หรอก ได้เรียนเราก็รู้จัก ไม่เรียนเราก็รู้จัก ถ้าเรามีสติอยู่ หูฟัง เสียง มันชอบใจ ไม่ชอบใจ นี่มันรู้จักแล้ว มันรู้เรื่องปฏิบัติแล้ว เรื่องชอบใจ ไม่ชอบใจ อย่าเอาเข้ามาในใจของเรา แต่ฟังแล้ว ก็ให้รู้เรื่องของมัน เรื่องชอบใจ เรื่องไม่ชอบใจ นี้คือหลักปฏิบัติ ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติแล้ว มันรู้จัก แต่คนเราเมื่อไปดูเรื่องที่ชอบใจ แล้วก็จะเอา ถ้าไม่ชอบใจก็ไม่เอา ถ้าไม่ชอบแล้วก็วุ่นวาย ถ้าชอบก็สบายไปหน่อย นี่คือปฏิบัติอยู่ในวงอวิชชา มันผิดทั้งนั้นแหละ

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านสอนน่ะ ชอบก็ไม่ให้เอา ไม่ชอบก็ไม่ให้เอา ไม่มีชอบ ไม่มีไม่ชอบ ไม่มีรัก ไม่มีเกลียด เราเดินตรงเข้าไปหาสัจธรรม ถ้ารู้จักแต่เรื่องบุญ เรื่องบาป ฉันไม่เอา ฉันจะเอาบุญ อันนี้มันเป็นตัวอวิชชาเหมือนกันนะ เรื่องไม่บาป ไม่บุญ ทำไมไม่เดินเล่า เรื่องที่ว่าไม่ดี ไม่ชั่ว ทำไมไม่เดิน มันทางจะให้เราพ้นทุกข์ ความดีที่แท้จริงมันอยู่ เหนือดี เหนือชั่ว มันอยู่เหนือผิด เหนือถูก

ฉะนั้น การปฏิบัติ อย่าให้ออกจากใจของเรา ให้ดูในใจของเรา อย่าไปอาศัยข้างนอก เมื่ออารมณ์มา กระทบ มันก็เป็นพยานอยู่ในตัวแล้ว ไม่ต้องไปเรียนที่ไหนอีก... นี่คือภาวนา จะต้องเรียนอย่างนี้ หาจิตที่แท้จริง จิตใจที่แท้จริง ก็เหมือนกับใบไม้ ใบไม้...ตามธรรมชาติของมันก็นิ่งๆ เราก็รู้จัก อีกเวลาหนึ่งมันกวัดแกว่ง...เพราะอะไร? มันถูกลม มันจึงกวัด แกว่ง จิตถ้ามันรู้อารมณ์แล้วเป็นต้น มันก็เป็นปกติของมัน ดู เท่านี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปเรียนที่ไหน มันจะถูกอารมณ์สัก เท่าไรก็ช่าง เมื่อเรารู้ตามเป็นจริงแล้ว มันก็นิ่ง มันสบาย มัน สงบ มันระงับ

ดังนั้น การปฏิบัติให้เราเข้าใจของแยบคายในพุทธศาสนาของเรา อย่างพวกเรานี้ เป็นพระ เป็นเณร...ถามไปอีกทีหนึ่งว่า มันเณรจริงหรือเปล่า มันเป็นพระจริงหรือเปล่า ถามตัวเองเข้าไปอีก ไปเห็นตัวจริงแล้ว แหม...มันจะไป เร่ร่อนอยู่ในบ้าน มันไปคลุกคลีอยู่ในบ้าน อย่างเรามาบวช ในพุทธศาสนานี้ ไม่ได้เสพกามแล้วเดี๋ยวนี้ ก็เลยดีใจ ฉันไม่ได้ เสพกามแล้ว เลิกมาแล้ว อันนี้เป็นคำพูดของเราที่ติดปาก กันมา แต่เมื่อเรามองเข้าไปอีกทีว่า...ใครเสพนี่...ตามันเห็นรูป ถ้ามันยังเกลียดเค๊า...มันก็ไปเสพเค๊าอีก ถ้ามันชอบเค๊า มันก็ไปเสพเค๊าอีก ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต ถ้าไปรู้เรื่องมัน...มันก็เสพทั้งหมด เดี๋ยวนี้ ทั้งพระทั้งเณรนี่...เสพกามอยู่นี้ ไม่ได้หนีจากกามหรอก ตาเห็นรูปผู้หญิง มันชอบไม๊...มันเสพแล้ว นี่ จมูกดมกลิ่น มันหอม ชอบมัน...เสพแล้วนี่...เสพแล้ว ยังเสพกามอยู่ ยังปล่อยวางอารมณ์ไม่ได้ เรียกว่ายังเสพกามอยู่ ที่ว่าเราเป็นพระนั้น สมมติขึ้นมาหรอก

แต่ก่อนเราก็เป็นโยมอยู่ เมื่อวานเราเป็นโยม วันนี้ มาบวชเป็นพระ ก็นึกว่าเราเป็นพระ เป็นเณรแล้ว มันเป็น แต่รูปร่างน่ะ ความเป็นจริงใจมันยังอยู่ตรงนั้น...ใจยังอยู่ เรา ต้องการตรงนั้น ระวังตรงนั้น มันจึงถูก ตรงนั้นไม่ระงับ มันก็ เป็นไปไม่ได้ มันโลภ มันโกรธ มันหลง มันเกิดมาจากตัวนั้น คือจิตอันนั้น ถ้าระงับจิตไม่ได้ก็ไม่เป็นสมณะ ตรงนี้พระศาสดา ท่านว่า การปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้น ให้ดูภายในจิตของเจ้าของ ให้มันเห็น อย่างคนอื่นทำผิดเราก็ยกโทษเขาเรื่อยๆไม่หยุด เพราะเขาทำผิด ถ้าคิดไปอีก ก็ดีส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่คิดเข้า ไปถึงที่สุดแล้ว มันเรื่องของเขา เราจะไปแบกทำไม? มันทุกข์... เห็นไหมนั่น นานๆเราก็เลยพ่ายตามเขาไปด้วย เห็นเขาผิดแล้ว ก็ไปรื้อฟื้นขึ้นมา เห็นเขาผิด...ต่อไปเราก็ผิดอีก เพิ่มมันเข้าไป อันนี้ต้องให้รู้จัก การปฏิบัติก็เหมือนกันอย่างนั้น

ศีล สมาธิ ปัญญา ผมเองพูดบ่อยๆ แต่ว่าคงจะไม่ เข้าใจ หรือไม่เอาใจใส่เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา มันเป็นสามอย่าง แต่ธรรมะผมพูดว่ามันเป็นอันเดียว เปรียบให้ฟัง มันเป็นอันเดียวยังไง เหมือนมะม่วงใบนี้แหละมันเป็นใบเดียว แต่ว่ารสเปรี้ยวมันก็มี รสหวานมันก็มี กลิ่นหอมมันก็มี รสทั้งหลาย กลิ่นทั้งหลายเหล่านี้ มันก็ออกมาจากผลไม้อันเดียวกัน ธรรมะนี่ก็เหมือนกัน เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นสาม แต่ความเป็นจริงอันนี้ไม่มีสามหรอก เหมือนมะม่วงใบนั้น หวานก็เกิดมาจากนั้น หอมก็เกิดมาจากนั้น เปรี้ยวก็เกิดมาจากนั้น มันแยกกันอยู่อย่างนี้ แต่ก็อยู่ในมะม่วงใบเดียวกัน

เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราพูด แล้ว มันก็ดึงดูดความเห็นไปคนละอย่าง การปฏิบัตินี่ก็เหมือน กัน ถ้าปฏิบัติสมาธิมันก็ถึงปัญญา ถึงศีลด้วย เราจับมะม่วง ใบนี้ขึ้น ทั้งหวาน ทั้งเปรี้ยว ทั้งหอม อยู่ใบเดียวกัน แต่พูดถึง กลิ่นและรสคนละอย่าง แต่อยู่ใบเดียวกัน อันนี้ธรรมะอันเดียว เอโกธัมโม ธรรมมีอันเดียวเท่านั้น มีไม่มาก คือจิตของเราที่มันเห็นชัดแล้ว มันก็วาง...ปล่อย หมดแค่นั้น ที่เรามาทำ อยู่นี้ บางคนก็ลำบากหลาย คิดไม่ถึงทุกข์

บางทีก็นั่งสมาธิ ไม่อยากให้มันคิดอะไร ไม่อยากให้ มันรู้อะไร เดี๋ยวอันนั้นอันนี้มาดึงไป แล้วก็คุมมันไว้ อันนี้คือ ความเข้าใจผิด ใครจะดึงไปที่ไหน? ถ้าพูดตามความเป็นจริง แล้วนะ ให้มันดึงไปเถอะ เสียงก็ให้มันได้ยิน รูปก็ให้มันเห็น ให้ มันรู้จัก มันถึงจะมีปัญญา การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ถ้าเรามีสติสังวรสำรวมอยู่ทุกเวลา นั่นแหละมันจะอบรมศีล... อบรมสมาธิ... แล้วก็อบรมปัญญา

เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมา ก็รู้จักว่ามันทุกข์ ทุกข์นี่มันเกิดขึ้น มาเพราะอะไร?...มันจะเห็นอะไรไม๊ ถ้าเราเห็นตามธรรมดา มันก็ไม่ทุกข์ เช่นว่าเราอยู่อย่างนี้ๆเราก็สบาย อีกวาระหนึ่ง เราอยากได้กระโถนใบนี้มา ยกมันขึ้นมา...ต่างแล้ว...ต่างกว่า แต่ก่อนที่ยังไม่ได้ยกกระโถน ถ้าไปยกกระโถนขึ้นมา มีความ รู้สึกว่ามันหนัก มันเพิ่มขึ้นมา...มันมีเหตุหนัก มันจะเกิดเพราะ อะไร ถ้าไม่เพราะเราไปยกมัน ถ้าเราไม่ยกมัน มันก็ไม่มีอะไร ถ้าไม่ยก...มันเบา อะไรเป็นเหตุ...เท่านี้ก็รู้แล้ว ไม่ต้องไปเรียน ที่ไหน ถ้าเราไปยึดอะไร อันนั้นแหละเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าเราปล่อย มันก็ไม่มีทุกข์

ทำไมเราไปยึดมัน ก็เพราะมันอยากถึงไปยึดมันมา มันก็หนักเท่านั้นแหละ ไม่ใช่อื่นไกลหรอก เห็นชัดตรงนี้ การ ปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่า การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ให้มีอยู่เสมอ เราต้องแสวงหาศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมกันเลย เมื่อบารมีเต็ม มันก็เต็มพร้อมกัน

สัมมาทิฏฐิ...ปัญญาเห็นชอบ ทุกอย่างที่เป็นมรรคก็ ชอบเต็มไปหมด เหมือนมะม่วงมันแก่ มันก็แก่หมดทั้งลูก มัน พร้อมกันไปทั้งนั้น มันห่าม มันก็ห่ามไปหมดทั้งลูก มันสุก มัน ก็สุกไปหมดทั้งลูก เรื่องของมันเป็นอย่างนี้ มันไม่แยกกัน เรา ไปแยกมันออก ก็เลยไม่รู้เรื่อง มันจึงยุ่งยาก

ดังนั้นการปฏิบัติของเรา ก็คือให้มีสติควบคุมเสมอ ในการยืน เดิน นั่ง นอน ให้รู้จักผิด รู้จักถูก อย่าไปมองดูข้างนอก ถ้าไปยึดข้างนอก มันจะลืมตัว มันจะไม่เห็น ตัว เราจะรักอันนั้น เราจะรังเกียจอันโน้น เพราะจิตเราเป็นเหตุ เป็นต้นตอ ฉะนั้นเราจะต้องดูจิตอันเดียวเท่านั้น ถ้าเรารู้จัก มันก็เป็นอย่างนั้น

ถ้าเราอยากจะรู้ของแน่นอน พระพุทธองค์ท่านสอนให้พิจารณาร่างกาย ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาศีรษะ ศีรษะไปหาปลายเท้า ให้เห็นชัดว่า ก้อนนี้มันเป็นอย่างนั้น ก้อนอื่นนอกนี้ ก็เป็นอย่างนี้ ไม่แปร ไม่เปลี่ยน ฉะนั้นการปฏิบัติของเรา ท่านจึงให้อบรมศีล อบรมสมาธิ อบรมปัญญา มันไปพร้อมกัน ศีลมันสามัคคี สมาธิก็สามัคคี ปัญญาก็สามัคคีพร้อมกัน เหมือนมะม่วงใบนี้น่ะมันจะดิบ มันก็สามัคคีกันดิบ มันจะห่าม มันก็สามัคคีกันห่าม มันจะสุก มันก็สามัคคีกันสุก เพราะมะม่วง ใบเดียวกัน ฉันนั้น การปฏิบัตินี้ก็เหมือนกัน

บางคนก็ไปนั่ง ไม่อยากให้มันรู้อะไร ให้มันเงียบๆ เหมือนเอาอะไรไปครอบไว้ไม่ให้รู้เห็นอะไร มันจะเกิดประโยชน์ อะไรไม๊ ที่เราเข้าไปนั่งสงบนั้นไม่ใช่สงบกิเลส แต่มันทำจิตให้ สงบชั่วคราวเท่านั้นแหละ เหมือนเรานั่งอยู่นี่ หายใจสบายๆนะ สบายแต่เดี๋ยวนี้ อีกต่อไปเราลองเอาประคตเอวมารัดพอ ให้มันแน่น รัดเข้าๆ.. ไอ้ความสบายมันจะไม่ค่อยมี ความ ไม่สบายมันจะเพิ่มเข้ามา จนหายใจน้อยๆ ทนทุกข์ทรมานอยู่นานพอสมควร เราก็เอาประคตออก เลือดมันก็วิ่งสม่ำเสมอ มีความรู้สึกสบาย

แต่ว่าเมื่อเอารัดเข้าไป มันก็ทุกข์ตรงนี้อีก พอระบาย ทุกข์ออก ถึงที่เก่า มันก็นึกว่า เออ...อันนี้มันสบาย แค่นี้น่ะดูซิ ก่อนจะสบาย มันทุกข์ก่อนเกือบตาย เราไม่ตาย เห็นจะไม่รู้จัก นะ มันสลัดกันตรงนี้แหละ เราไปหลงอารมณ์ตรงนั้นแหละ เมื่อปล่อยประคตเอวออก ความสบายก็อยู่แค่นี้แหละ แต่เมื่อ เราหยุดแค่นี้ เราก็นึกว่าสบายแล้ว ก็อยากสบายให้ยิ่งไปกว่านี้ นี่ของอันเก่านะ เราสำคัญผิดเท่านั้น การปฏิบัตินี่ก็เหมือน กันฉันนั้น

จะอยากให้มันเป็นยังไง อยากจะไปนั่งไม่ให้มันมีอะไร ไม่ให้คิดอะไร ไม่ให้นึกอะไร...อันนั้นมันบาปหลายแล้ว...มัน บาปหลาย ไอ้ความคิดที่ว่ามันไม่ดี อารมณ์ที่มันไม่ดี ถ้า เรารู้มันแล้ว มันก็เกิดปัญญาเท่านั้น อันนั้นแหละตัวสำคัญ ไอ้คนนี้พูดไม่ถูกหูเรา เราไม่ชอบใจ อยากจะหนีมันไป นี่แหละ ตัวสำคัญแล้วนี่ ต้องให้เราปฏิบัติให้รู้ตัวของเราแล้ว เพราะเรา มันหลงนี่ หลงเพราะอะไร? เพราะเราไม่ชอบก็หนีไป อันนี้มัน ไม่พ้น ถ้าเราไปอีก ไปพบเสียงอันนี้อยู่ข้างหน้าอีก เราก็ไม่ ชอบใจอีก...ไปอีก มันก็ตายเปล่าๆเท่านั้นแหละ มีความสงบ ไม่มีความสงบ ต้องให้รู้มัน

เราปฏิบัติให้รู้จัก อย่าไปขังตัวของเรา ถึงสงบขนาดไหน ก็อย่าทิ้งความรู้สึก ถ้าทิ้งความรู้สึกมันก็เป็นบ้า...ให้มีความรู้ตัวของมัน...เรียกว่าพุทโธ...เราอย่าไปบ่น แต่ปากของ เราเท่านั้น แต่ให้มันถึงจิตของเจ้าของ การปฏิบัติต้องเป็นอย่างนั้น บางคนนั่งไม่สงบ ไม่คิดอย่างนั้น ก็ไปอย่างนี้ ก็ว่ามันไปแล้ว ฉันก็ไปดึงมันมา มันไปอีก ก็ไปดึงมาอีก เลยเป็นบ้า ใครดึงใครก็ไม่รู้ ใครไปใครมาก็ไม่รู้...ไม่รู้เรื่อง ไม่มีใครไปใครมาหรอกนั่น จะมีใครมาใครไปเล่า...ดูให้มันดีๆตรงนั้น อย่างที่ผมพูด ใบไม้ปกติของมัน มันนิ่ง ถ้ามันกวัด แกว่ง เพราะอะไร? ลมมาถูกมัน จิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้า มันฟุ้งซ่านรำคาญกวัดแกว่ง ก็เพราะถูกอารมณ์ ถ้าจิตแท้ๆ แล้ว มันนิ่งอยู่อย่างนั้น สว่างอยู่อย่างนั้น รู้อยู่อย่างนั้น อันนี้ เราเข้าใจผิดกัน จะต้องให้มันรู้จัก ให้สังวรสำรวม ให้รู้จักว่า มันผิดมันถูก ผิดก็รู้ ถูกก็รู้ มันจะคิดผิดขนาดไหนก็ช่าง เรารู้ ว่าอันนี้มันคิดผิด เข้าใจผิด ไม่ให้มันดึงดูดเราไปได้ แล้วก็กลับ มาตรงนี้ เพราะมันมั่นอยู่แล้ว ไม่ให้มันขาดจากนี้ไป แค่นี้... ก็เป็นสังวรศีลแล้ว ก็เป็นสมาธิแล้ว ปัญญาก็จะเกิดขึ้นมา

ทำอันนั้น...หลับตา ก็ไม่ผิดหรอก แต่ให้รู้จักเวลาพอ สมควร นั่งไม่รู้ไม่เอา ต้องให้รู้จักหายใจเข้า-ออก...รู้...เข้าไป บ่มไว้ อะไรผ่านเข้ามา รู้จักหมดทุกอย่าง ออกจากที่นี่ก็มีสติ เดินไป ตาเห็นรูปก็รู้จัก หูฟังเสียงก็รู้จัก รู้จักทุกสิ่งทุกอย่าง รู้จักผิด รู้จักถูก เมื่อรู้จักผิด รู้จักถูกแล้ว ก็พยายามละมัน ให้ มันไปเหนือกว่านั้นอีก จนกว่าใจของเราไม่มีผิด ไม่มีถูก...เหนือ แล้วนี่ คือเราปล่อยวางมันเสีย ให้รู้จักอย่างนั้น นี่เรียกว่า การปฏิบัติของเราฯ

ธรรมโอวาทหลวงพ่อชา สุภัทโท แสดงแก่พระเณร